Header Image
​“พาณิชย์”ขึ้นทะเบียน GI ใหม่ “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” มั่นใจเพิ่มชื่อเสียง เพิ่มรายได้
watermark

กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” ถือเป็นรายการที่ 3 ของจังหวัดตราด มั่นใจทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น
         
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดตราด ต่อจากสินค้าสับปะรดตราดสีทอง และทุเรียนชะนีเกาะช้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ โดยมั่นใจว่าหลังจากการขึ้นทะเบียน GI จะทำให้ชื่อเสียงของทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้มากกว่าเดิมที่มี 11,047 ล้านบาทต่อปี

สำหรับทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปลือกผิวสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแข็งแรงและแหลมคม เนื้อทุเรียนสีเหลืองอ่อน หนา มีรสชาติหวาน มัน มีพื้นที่ปลูกอยู่บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีฝนตกมาก อีกทั้งอิทธิพลจากแรงลมทะเลที่เข้าปะทะกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลไปจนถึงพื้นที่เทือกเขาบรรทัดที่ส่งผลให้สภาพความชื้นในอากาศลดลงเร็วกว่าปกติ ทำให้ทุเรียนเกิดอาการเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเกิดการกระตุ้นให้ทุเรียนออกดอกได้เร็วขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ก่อนพื้นที่อื่น เกษตรกรในพื้นที่จึงเรียกพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกบริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดว่า ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียนหมอนทองในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาได้มีการนำชื่อขยายไปยังกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนใน 5 อำเภอของจังหวัดตราด ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอเขาสมิง
         
ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก บนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ GI เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด  


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 51,032