สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง
18/1 ถนนไชยบุรี ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง 93000
โทรศัพท์ : 074-613-151 Email : pt_ops@moc.go.th
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดหลักสูตรออนไลน์ เรียนรู้เรื่อง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งความรู้ทั่วไป ระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน GI การป้องกันกรณีถูกละเมิด การทำการตลาด หวังให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำไปต่อยอดสินค้าชุมชน สร้างโอกาสและรายได้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำหลักสูตรและเปิดช่องทางให้บริการการเรียนรู้ออนไลน์ เรื่อง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (GI e-Learning) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย จำนวน 3 หลักสูตร เพื่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง GI และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสินค้าชุมชน การพัฒนาสินค้า การควบคุมมาตรฐานสินค้า GI และการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้า GI โดยสามารถเรียนผ่านเว็บไซต์ https://gi-elearning.ipthailand.go.th/ ได้ทุกที่ ทุกเวลา และเมื่อเรียนจบในแต่ละหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรในรูปแบบ e–Certificate จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทันที
สำหรับ 3 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.หลักสูตรความรู้ทั่วไป สำหรับประชาชนที่สนใจในเรื่อง GI และผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้าที่ต้องการนำสินค้าท้องถิ่นมาขึ้นทะเบียน โดยมีเนื้อหาหลักสูตรในด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ GI เช่น ความหมาย ความสำคัญ กฎหมาย หลักเกณฑ์และประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
2.หลักสูตรระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI ไทย สำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า ที่ต้องการขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย โดยเนื้อหาหลักสูตรจะมุ่งเน้นในด้านความสำคัญของการควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตใช้ตรา GI ไทย
3.หลักสูตรการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า GI สำหรับคณะกรรมการผู้มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า GI และแนวปฏิบัติกรณีมีการละเมิดสินค้า หรือตราสัญลักษณ์ GI ไทย
“กรมมีนโยบายด้านการส่งเสริมและคุ้มครอง GI รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง GI ให้แก่ชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพทางการค้าของเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ GI ไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีรากฐานที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา มีสินค้า GI ไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 198 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 54,000 ล้านบาท”นายวุฒิไกรกล่าว