Header Image
​สนค.แนะเกษตรกรไทย เรียนรู้ญี่ปุ่นติดฉลากลดปล่อยก๊าซ นำปรับใช้มุ่งเกษตรสีเขียว
watermark

สนค.เผยญี่ปุ่นเตรียมติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด ดีเดย์ เม.ย.67 ครอบคลุมสินค้า 23 รายการ เดินหน้าส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน แนะเกษตรกรไทยเรียนรู้ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลให้คู่ค้า และสร้างโอกาสขายให้สินค้าเกษตรไทย  
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง พบว่า ญี่ปุ่นกำลังดำเนินโครงการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด เพื่อสื่อสารความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรและผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยคาดว่าจะใช้ระบบการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน เม.ย.2567 รวมทั้งจะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ โคนม โคเนื้อ และสุกร ด้วย
         
“การดำเนินการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระบบอาหารยั่งยืน หรือยุทธศาสตร์ MIDORI (MIDORI ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สีเขียว) ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น ที่ออกมาเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2564 โดยการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ดังกล่าว”
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด ครอบคลุมสินค้า 23 รายการ ได้แก่ ข้าว มะเขือเทศ มะเขือเทศเชอร์รี่ แตงกวา มะเขือยาว ผักโขม ต้นหอม หัวหอม ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ผักกาดหอม หัวไชเท้า แครอท หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้มแมนดาริน องุ่น ลูกแพร์ญี่ปุ่น ลูกพีช สตรอเบอร์รี่ มันฝรั่ง มันเทศ และชา โดยปัจจุบันมีร้านค้าทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหารเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 271 แห่ง (ข้อมูล ณ ก.ย.2566) โดยฉลากจะมีการแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปดาว จำนวน 3 ดวง หากสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 5 จะได้ 1 ดาว ลดลงได้ร้อยละ 10 จะได้ 2 ดาว และลดลงได้ร้อยละ 20 หรือมากกว่า จะได้ 3 ดาว และยังมีการแจ้งรายละเอียดวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พลังงานชีวมวล

ทั้งนี้ ฉลากดังกล่าว จะทำให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของสินค้าเกษตรและเป็นการสื่อสารความพยายามของเกษตรกรผู้ผลิตในการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแบบเข้าใจง่าย รวมทั้งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ของญี่ปุ่น ยังอยู่ระหว่างการสำรวจผู้บริโภคเพื่อประเมินการตอบรับและการรับรู้ต่อฉลากลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ความน่าสนใจของฉลาก และการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีฉลากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งเตรียมดำเนินการในสินค้าโคเนื้อ โคนม และสุกร เพื่อขยายให้ครอบคลุมกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ต่อไป โดยมีการรวบรวมข้อมูล และสรุปแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมของโครงการนำร่องดังกล่าว และมีแผนจะนำระบบการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรไปใช้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือน เม.ย.2567

“ปัจจุบันตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยกำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ญี่ปุ่น ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเป็นตลาดรองรับสินค้าที่มีฉลากลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักต่อการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ จึงควรปรับปรุงการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยควรเริ่มเก็บข้อมูลการเพาะปลูก เพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขอรับรองฉลากคาร์บอน ฟุตพริ้นท์เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตลาดคู่ค้าที่ให้ความสำคัญและต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”นายพูนพงษ์กล่าว
         
ในช่วง 9 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น รวมมูลค่า 18,856.94 ล้านเหรียญสหรัฐ (643,053.3 ล้านบาท) เพิ่ม 0.1% โดยสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่ารวม 3,685.79 ล้านเหรียญสหรัฐ (125,765.4 ล้านบาท) ลด 7.1% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกไปญี่ปุ่นที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไก่แปรรูป มีมูลค่าส่งออก 1,023.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (34,937.0 ล้านบาท) 2.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 504.03 ล้านเหรียญสหรัฐ (17,195.2 ล้านบาท) และ 3.ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 321.88 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,987.9 ล้านบาท) ส่วนสินค้าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มีมูลค่าส่งรวม 70.12 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,390.3 ล้านบาท) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 17.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (587.2 ล้านบาท)


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 96,152