Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

บรรยายสรุปจังหวัดพัทลุง
---------------------------

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดพัทลุง

     ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่ที่มากเป็นอันดับที่ 10 ของภาคใต้ และเป็นอันดับที่ 55 ของประเทศ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมมาลายูหรือแหลมทอง (Golden Khersonese) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยหรือฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (Songkhla Lake Basin) โดยตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 6 ลิปดาเหนือ ถึง 7 องศา 53 ลิปดาเหนือ และลองติจูดที่ 99 องศา 44 ลิปดาตะวันออก ถึง 100 องศา 26 ลิปดาตะวันออก  ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 41 เป็นระยะทางประมาณ 856 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ 1,200 กิโลเมตร และตามเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 846 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยความยาวของจังหวัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 83 กิโลเมตร และความกว้างจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เป็นระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

     ทิศเหนือ      ติดต่อกับอำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
     ทิศใต้      ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
     ทิศตะวันออก      ติดต่อกับทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นน่านน้ำติดต่อกับ อำเภอระโนดอำเภอกระแสสินธ์  อำเภอสะทิงพระ อำเภอ สิง ห นคร จังหวัดสงขลา
     ทิศตะวันตก      ติดเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นแนวติดต่อกับ อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาวอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

     ลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดพัทลุงมีลักษณะเป็นภูเขาและที่ราบสูงทางด้านทิศตะวันตกประกอบด้วย เทือกเขาบรรทัด ถัดมาทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบสลับที่ดอน และเป็นพื้นที่ราบลุ่มจดทะเลสาบสงขลาพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 3,424.47 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,140,296 ไร่  เป็นพื้นดิน 1,919,446 ไร่  พื้นน้ำ 220,850 ไร่  ลักษณะของพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงสามารถจำแนกออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน พื้นที่ราบ และพื้นที่เกาะ ดังนี้
     พื้นที่ภูเขา มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่มียอดสูงๆ ต่ำๆ  มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร และลาดไปทางทิศตะวันออกลงสู่ทะเลสาบสงขลาในอัตราความลาดชัน 25- 30  เปอร์เซ็นต์ เทือกเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช เรียกกันโดยทั่วไปในท้องถิ่นว่า เขาบรรทัด  พื้นที่ภูเขามีเนื้อที่รวมกันประมาณ 835.90 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 24.41 ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอป่าบอน ตะโหมด กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต และป่าพะยอม  
     พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเทือกเขาบรรทัด หรือพื้นที่เชิงเขาลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเตี้ยๆ เรียกกันโดยทั่วไปในท้องถิ่นว่า ควน มีเนื้อที่ประมาณ 539.70 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 15.76 ของพื้นที่ทั้งหมด  
     พื้นที่ราบ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,485.54 ตารางกิโลเมตรหรือร้อยละ 43.38 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเหมาะแก่การกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด จึงนิยมตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในบริเวณนี้
     พื้นที่เกาะ เป็นพื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ในอำเภอปากพะยูน มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 219.17 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 6.40 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่เกาะเป็นถิ่นที่อยู่ของนกอีแอ่นกินรังมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1.12 ตารางกิโลเมตร   
     พื้นน้ำในจังหวัดพัทลุงเป็นส่วนสำคัญของทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย ทะเลน้อย และทะเลหลวงหรือทะเลสาบสงขลาตอนใน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 344.16 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 50,526